คำถาม คือ PM 2.5 คืออะไร แล้วมีผลกระทบกับชีวิตเราอย่างไร เกิดจากอะไร นอกจากนี้เราจะป้องกันได้อย่างไร และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
คำถามแรก PM 2.5 คืออะไร
PM ย่อมาจาก Particulate Matter (หรือบางทีจะถูกเรียกว่า particle pollution) คือ อนุภาคฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษนั่นเอง ส่วน 2.5 จะหมายถึง 2.5 ไมครอน(ไมโครเมตร) เป็นหน่วยวัดมาตรฐานซึ่งถือว่าเล็กมาก ยกตัวอย่าง ถ้าเทียบกับเส้นผมของมนุษย์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50-70 ไมครอน ฝุ่นละอองนี้ก็จะมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของเราถึงประมาณ 30 เท่า
สรุปแล้ว PM 2.5 จะหมายถึงฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนลงไป ดังนั้นเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีอยู่จริงแน่นอน เหมือนกับอะไรบางอย่างนะครับ อันนี้ให้คิดเอาเอง
โดยค่านี้จะแสดงถึงจำนวนของ PM 2.5 ต่อ 1 m3 หรือ ลูกบาศ์กเมตรนั่นเอง
แล้วคำถามต่อมา มันมีผลกระทบกับชีวิตเราอย่างไร
ในเมืองใหญ่ๆ เราก็ไปทำงานกันปกติ แค่วันนี้ท้องฟ้าดูไม่สดใสเหมือนเคย เห็นเป็นหมอกจางๆหรือควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้ แต่คงไม่ต้องถามใครแล้ว เพราะว่าเป็นฝุ่น PM 2.5 แน่นอน องค์กรต่างๆก็ออกมาประกาศเตือนกันให้ประชาชนทราบและตระหนักถึงภัยที่ตามมา ถ้าเราสูดเข้าไปมันก็จะสามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอด อีกทั้งยังเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด และอาจะเป็นมะเร็งปอดได้ แม้กระทั่งทารกในครรภ์ที่แม่สัมผัสกับอนุภาค PM2.5 ก็จะทำให้เด็กเมื่อโตขึ้นมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ดังกล่าว
ฟังแล้วผลกระทบอาจจะดูน่ากลัว แต่เนื่องจากว่ามันเป็นผลกระทบในระยะยาว จึงทำให้คนไทยไม่ตระหนักเท่าที่ควรและรู้สึกว่าไม่ใส่หน้ากากไม่ป้องกันก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่นา ในระยะสั้นสำหรับคนที่ไม่ sensitive ก็อาจจะไม่เห็นผลอะไร แต่ระยะยาวคนที่ไม่ป้องกันอาจจะต้องมาเสียใจภายหลังแน่นอน ที่พูดมาก็เพื่อต้องการให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวเองก่อนที่จะสายไปครับ
ทีนี้จะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้ที่ๆเราอยู่มีค่า PM 2.5 เท่าไหร่ อันนี้ก็ไม่ยากเนื่องจากมีแอปพลิเคชันบนมือถือ หรือเวบไซต์ต่างๆที่เก็บรวบรวมข้อมูลและแสดงผลให้เราทราบ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ www.pcd.go.th ก็จะมีแสดงเป็นแผนที่ตาม Link นี้ครับ
ข้างบนเป็นมาตรฐานของประเทศไทย แต่จริงๆแล้วค่ามาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดเป็นข้อแนะนำไว้ว่า ค่า PM 2.5 ปกติไม่ควรเกิน 10 μg/m3 เฉลี่ยต่อปี หรือ 25 μg/m3 เฉลี่ยต่อชั่วโมง แต่ก็มีการปรับเกณฑ์ตามลักษณะของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศที่กำลังพัฒนาก็อาจจะเป็นที่ 35 ไมโครแกรมต่อลูกบาศ์กเมตร ก็จะเห็นได้ว่าค่ามาตรฐานเรากับของโลกต่างกันอย่างไรแล้วนะครับ
จากการวิจัยก็พบอีกว่าเมื่อค่าเหล่านี้สูงขึ้นนั่นหมายความว่าประชากรก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้นนั้นเอง ผลกระทบเหล่านี้ไม่เห็นในวันนี้พรุ่งนี้แต่จะเห็นในระยะยาวแน่นอนครับ
ต่อมา แล้วไอ้เจ้า PM 2.5 เนี่ยมาจากไหน มันก็มาได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-โรงงานอุตสาหกรรม
- การก่อสร้าง
- การคมนาคมขนส่ง
- การที่เราเผาขยะ เผาเศษไม้ เผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ตามต่างจังหวัดบางจังหวัดไม่ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังมีค่า PM 2.5 ในอัตราที่สูงกว่ามาตรฐาน
ถ้าถามถึงการป้องกัน ตอนนี้ถ้าหลีกเลี่ยงจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ก็คงต้องใช้ หน้ากากอนามัยที่ได้รับมาตรฐาน ปัจจุบันที่นิยมมากที่สุด ก็คือ แบบ N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน แต่ก็ราคายังค่อนข้างแพงและก็ขาดตลาดในบางช่วง และก็กันได้ไม่ต่ำกว่า 95%
ปัจจุบันนอกจากหน้ากากอนามัย ในบางพื้นที่อาจจะมีฝุ่นควันมากกว่าปกติ เช่น ที่เชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ถึงแม้ว่าเราอยู่ในบ้านก็หนีไม่พ้นนะครับ ดังนั้น อาจจะต้องพึ่งพาเครื่องฟอกอากาศเพิ่มเติม อย่างนั้นเวลาเราอยู่ในบ้านก็ยังช่วยให้เรามีอากาศที่บริสุทธิ์หายใจครับ สำหรับเครื่องฟอกที่เคยใช้แล้วคิดว่าราคาเหมาะสมตอนนี้ก็มี ของ Xiaomi Air Purifer 2s ครับ ราคาในเวบจะอยู่ที่ประมาณ 3,xxx ถึง 5,xxx ขึ้นอยู่กับการรับประกันครับ ที่ชอบรุ่นนี้ก็เพราะว่ามีหน้าจอบอกค่า PM2.5 ด้วยนะครับ จะทำให้เราเห็นว่าตอนนี้ค่า PM2.5 เป็นเท่าไหร่แล้วหลังจากที่เปิดไปซักพักค่าก็จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆครับ นอกจากนี้เรื่อง Filter ก็หาซื้อได้ง่ายราคาที่ศูนย์ก็เพียงแค่ 999 บาทครับ
สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถที่จะช่วยลดสาเหตุตรงไหนได้เราก็ควรที่จะช่วยกันนะครับ ใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับส่วนไหนที่ทำให้เกิดมลพิษก็ควรที่จะตระหนักและช่วยกันทุกคนครับ เพราะการป้องกันนั้นค่อนข้างยาก อากาศเราหายใจเข้าไปอยู่ตลอดเวลาจะให้ใส่หน้ากากตลอดคงเป็นไปไม่ได้ แล้วหน้ากากก็ไม่ได้กันได้ 100% นะครับ
อ้างอิง :
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ambient-(outdoor)-air-quality-and-health
http://air4thai.pcd.go.th/webV2/region.php?region=0